กว่าเจ็ดทศวรรษ ที่นิตยสารได้โลดแล่นบนแผงหนังสือไทย และได้สร้างความประทับใจ แง่คิด และ มุมมองใหม่ๆ แก่ผู้อ่านจากรุ่นสู่รุ่น ทว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นิตยสารหลายฉบับกลับต้องค่อย ๆ ทยอยปิดตัวไปตาม ๆ กัน…
ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ. 2539 เกิดปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนไปทั่ววงการนักอ่าน เมื่อ “สตรีสาร” นิตยสารชื่อดังของไทยในยุคนั้นได้ปิดตัวลง นับเป็นก้าวแรกที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการนิตยสาร และในปีเดียวกันนี้ PANTIP.COM เว็บบอร์ดชื่อดังได้เปิดตัวขึ้นเป็นครั้งแรก ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งยิ่งใหญ่ของ “ตัวหนังสือ” บนโลก “ออนไลน์”
หลังจากนั้นมา กราฟของนิตยสารไทยก็ไม่สงบนิ่งเหมือนอย่างเคย สื่อทางเลือกใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นระยะ — ยิ่งไปกว่านั้น นิตยสารที่เคยเป็นที่นิยมจำนวนมากก็ค่อย ๆ ทยอยกันโบกมือลาแผงหนังสือกันไปตาม ๆ กัน
ตลอดเวลา 20 ปีต่อมา จนถึงปี 2559 — ในขณะที่นิตยสารจำนวนมากปิดตัวลงพร้อมกันอย่างน่าใจหาย ทิ้งไว้เพียงชื่อที่ฝังอยู่ในใจของผู้อ่าน ทว่านิตยสารแจกฟรี และสื่อออนไลน์ได้เกิดขึ้นและเติบโตอย่างเห็นได้ชัด สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำความเปลี่ยนแปลงบนโลกสิ่งพิมพ์ จนนำมาสู่คำถามที่ว่า… หรือการเปิดใหม่ของ “สื่อ” บางอย่าง จะนำมาสู่การปิดตัวของ “สื่อ” อีกฟากฝั่งก็เป็นได้…
จากปรากฏการณ์ที่นิตยสาร กับ Free Copy และสื่อออนไลน์ เดินทางสวนกันอย่างเห็นได้ชัดในปี 2559 ชี้ให้เห็นว่า ผู้อ่านได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคข่าวจากนิตยสารเล่มไปสู่ช่องทางอื่นอย่าง “ออนไลน์” ที่สามารถอ่านได้อย่างสะดวกสบายกว่า ทุกที่และทุกเวลา เช่นเดียวกันกับ Free Copy ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้อ่านให้สามารถเลือกรับข้อมูลในแบบฉบับที่เรียกได้ว่าแทบจะไม่ต่างจากนิตยสารเล่ม แต่อยู่ในรูปแบบที่ไม่ต้องเสียเงินนั่นเอง
ทั้งนี้นิตยสารบางเล่มจึงจำเป็นต้องหาหนทางอยู่รอด บางส่วนเลือกที่จะใช้การเพิ่มช่องทางการสื่อสารอย่าง Free Copy เข้ามาเสริม ตัวอย่างเช่น นิตยสาร GM ที่แตกไลน์ Free Copy เพิ่มอย่าง 247 และ Womanplus ส่วน Lips มีการเพิ่ม Free Copy อย่าง Lips love และ Lips Garcon เพื่อเพิ่มทั้งรายได้จากค่าโฆษณาและเป็นการรักษากลุ่มลูกค้าไม่ให้หยุดการบริโภคไปอย่างถาวร
ด้วยพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ขอเลือกอ่านแต่เรื่องง่าย ๆ เข้าถึงได้เร็ว และมักเลือกเฉพาะประเด็นที่ตนเองสนใจ จึงทำให้ตัวสื่อทางเลือกเองก็ต้องปรับตัวรองรับพฤติกรรมผู้บริโภค ปี 2559 ได้กลายเป็นยุคทองของสื่ิอออนไลน์ ที่นำเสนอข่าวในรูปแบบ “Soft News” หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “เพจย่อยข่าว” โดยมีเพจข่าวยอดนิยมเกิดขึ้นกว่า 5 เพจในปีเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น Momentum, The Matter, the101world, Soimilk เป็นต้น ส่วนทางนิตยสารเล่มเองก็ไม่น้อยหน้า — GM เลือกแตกตัวออกมาเป็น GM Live บนช่องทางออนไลน์ รวมไปถึงการที่นิตยสารแทบจะทุกฉบับที่ยังอยู่รอด ก็เลือกที่จะเพิ่มช่องทางออนไลน์ของตนเองเพื่อเอาชีวิตรอดในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
หนึ่งในปัจจัยหลักในการเอาชีวิตรอดของนิตยสารคงจะหนีไปไม่พ้นเรื่องของ “รายได้” ที่มาในรูปแบบของเม็ดเงินโฆษณา ขณะที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น ค่าขนส่งทว่ารายได้จากโฆษณากลับลดลง โดยรายได้จากโฆษณาของนิตยสารลดลงถึงร้อยละ 14.28 จาก 4,721 ล้านบาทในปี 2557 เหลือเพียง 4227 ล้านบาทในปี 2558 ในขณะที่รายได้จากค่าโฆษณาในสื่อออนไลน์กลับเติบโต จาก 950 ล้านบาท ในปี 2557 มาเป็น 1058 ล้านบาท ในปี 2558 และมีแนวโน้มว่าจะโตขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือคำตอบว่าทำไมสื่อออนไลน์ จึงสามารถเอาชีวิตรอดและกลายเป็นพระเอกในวงการตัวอักษรได้ในปัจจุบัน
ถึงโลกจะโหดร้ายกับนิตยสารมากเพียงใด แต่นิตยสารฉบับเล่มก็ยังไม่ได้ยอมแพ้ง่ายๆ โดยพยายามเอาชีวิตรอดบนแผงหนังสือผ่านการสร้าง “แบรนด์” ให้ตัวเองเพื่อเอาชนะใจผู้บริโภค การสร้างแบรนด์ที่ว่า คือการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่จะทำให้ผู้บริโภคสนใจและกลายมาเป็น “แฟน” ในที่สุด ซึ่งเมื่อนิตยสารเหล่านี้มีแฟนที่ว่าแล้ว ก็เป็นเครื่องการันตีว่านิตยสารนั้นจะมีลูกค้าประจำอยู่เสมอ อีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ นิตยสารแทบทุกฉบับล้วนขยับขยายช่องทางใน Online Platform กันทั้งสิ้น โดยใช้ลงเนื้อหารูปแบบต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากในเล่มที่มีอยู่ เช่น อัลบั้มภาพ ภาพเคลื่อนไหว หรือ ลูกเล่น effects ต่างๆ ที่จะสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่านได้ดีขึ้น รวมถึงเขียนเนื้อหาและอัพเดทสิ่งน่าสนใจเพิ่มเติม อาจลงเนื้อหาที่เขียนใหม่ซึ่งไม่ได้ตีพิมพ์ในเล่มให้ผู้อ่านได้เลือกชมตามใจชอบ
จากแนวโน้มของกราฟที่ไม่เคยหยุดนิ่งนับตั้งแต่ปี 2539 จนถึงจุดที่เต็มไปด้วยสีสันแปลกใหม่ในปี 2559 จะเห็นได้ว่า อนาคตข้างหน้าอาจไม่ใช่ยุคแห่งการพัฒนานิตยสารเล่มบนแผงหนังสืออีกต่อไป แต่น่าจะเป็นยุคของสื่อออนไลน์นานาประเภทที่กระหน่ำเข้ามาเรียกความสนใจให้กับผู้บริโภคอยู่เรื่อยๆ — ไม่แน่ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจจะได้เห็นสื่อออนไลน์รูปแบบใหม่ ที่จะเข้ามาเบียดสื่อออนไลน์ย่อยข่าวซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ณ ปัจจุบันก็เป็นได้…